อาเซียน

อาเซียน

อาเซียน

กำเนิดอาเซียน

อาเซียน หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East AsianNations หรือ ASEAN) ก่อตั้งขึ้นโดยปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) ซึ่งได้มีการลงนามที่วังสราญรมย์ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสมาชิกก่อตั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย ซึ่งผู้แทนทั้ง 5 ประเทศ ประกอบด้วยนายอาดัม มาลิก (รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย) ตุน อับดุล ราชัก บิน ฮุสเซน (รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกลาโหมและรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติมาเลเซีย) นายนาซิโซ รามอส (รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์) นายเอส ราชารัตนัม (รัฐมนตรีต่างประเทศสิงค์โปร์) และพันเอก (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ (รัฐมนตรีต่างประเทศไทย)

ในเวลาต่อมาได้มีประเทศต่างๆ เข้าเป็นสมาชิกเพิ่มเติม ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม (เป็นสมาชิกเมื่อ 8 ม.ค.2527) เวียดนาม (วันที่ 28 ก.ค. 2538) สปป.ลาว พม่า (วันที่ 23 ก.ค. 2540) และ กัมพูชา เข้าเป็นสมาชิกล่าสุด (วันที่ 30 เม.ย. 2542) ให้ปัจจุบันมีสมาชิกอาเซียนทั้งหมด 10 ประเทศ

วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งอาเซียน คือ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างประเทศในภูมิภาค ธำรงไว้ซึ่งสันติภาพเสถียรภาพ และความมั่นคงทางการเมือง สร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาทางสังคมและวัฒนธรรมการกินดีอยู่ดีของประชาชนบนพื้นฐานของความเสมอภาคและผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก

หลักการพื้นฐานของความร่วมมืออาเซียน


หลักการพื้นฐานของความร่วมมืออาเซียน
        ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ได้ยอมรับในการปฏิบัติตามหลักการพื้นฐาน ในการดำเนินงานในเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างกัน อันปรากฏอยู่ในกฎบัตรอาเซียนซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของอาเซียน ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2551 และสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia หรือ TAC) ซึ่งประกอบด้วย

- การเคารพซึ่งกันและกันในเอกราช อธิปไตย ความเท่าเทียม บูรณาการแห่งดินแดนและเอกลักษณ์ประจำชาติของทุกชาติ
- สิทธิของทุกรัฐในการดำรงอยู่โดยปราศจากจากการแทรกแซง การโค่นล้มอธิปไตยหรือการบีบบังคับจากภายนอก
- หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน
- ระงับความแตกต่างหรือข้อพิพาทโดยสันติวิธี
- การไม่ใช้การขู่บังคับ หรือการใช้กำลัง
- ความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพระหว่างประเทศสมาชิก
          นอกจากหลักการข้างต้นแล้ว ตั้งแต่อดีตจนถึงช่วงก่อนที่กฎบัตรอาเซียนมีผลบังคับใช้               อาเซียนยึดถือหลักการฉันทามติเป็นพื้นฐานของกระบวนการตัดสินใจและกำหนดนโยบาย มาโดยตลอด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การที่อาเซียนจะตกลงกันดำเนินการใดๆ ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดทั้งสิบประเทศ จะต้องเห็นชอบกับข้อตกลงนั้นๆ ก่อน
        
           
                  การที่อาเซียนยึดมั่นในหลัก ‘ฉันทามติ” และ “การไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน’ หรือที่ผู้สังเกตการณ์อาเซียนเรียกว่า ‘วิถีทางของอาเซียน’ (ASEAN’s Way)ในทางหนึ่งนั้น ก็ถือเป็นผลดีเพราะเป็นปัจจัย ที่ทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนซึ่งมีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก ในเรื่องระบบการเมือง วัฒนธรรมและฐานะทางเศรษฐกิจ มีความ ‘สะดวกใจ’ ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก และดำเนินความร่วมมือในกรอบอาเซียน แต่ในอีกทางหนึ่ง“ฉันทามติและ “การไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน”ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในหลายโอกาสว่า เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กระบวน การรวมตัวกันของอาเซียนเป็นไปอย่างล่าช้า รวมถึงทำให้อาเซียนขาดความน่าเชื่อถือ เนื่องจากถูกมองว่ากลไกที่มีอยู่ ของอาเซียน ล้มเหลว ในการจัดการกับปัญหา ของอาเซียนเองที่เกิดขึ้นในประเทศสมาชิกใดประเทศสมาชิกหนึ่งได้ อย่างไรก็ดี การยึดถือฉันทามติในกระบวนการตัดสินใจ ของอาเซียน ได้เริ่มมี ความยืดหยุ่นมากขึ้นหลังจากที่กฎบัตรอาเซียน มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2551  เนื่องจาก กฎบัตรอาเซียนได้เปิดช่องให้ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน พิจารณาหาข้อยุติในเรื่องที่ประเทศสมาชิกไม่มีฉันทามติได้

โครงสร้างของอาเซียน
โครงสร้างของอาเซียนจะประกอบด้วยส่วนสำคัญ ดังนี้
สำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat)
            สำนักเลขาธิการอาเซียนได้จัดตั้งขึ้นตามข้อตกลงที่ลงนามโดยรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน
ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 1 ในปี 2519 เพื่อทำหน้าที่ประสานงานและดำเนินงาน
ตามโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคมอาเซียน และเป็นศูนย์กลางในการติดต่อระหว่างสมาคมอาเซียน คณะกรรมการ ตลอดจนสถาบันต่าง ๆ และรัฐบาลของประเทศสมาชิก
            สำนักเลขาธิการอาเซียนตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ตาประเทศอินโดนีเซียโดยมีหัวหน้าสำนักงานเรียกว่า “เลขาธิการอาเซียน” ซึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2545 ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 35 ได้แต่งตั้งนาย Ong Keng Yong” ชาวสิงคโปร์ เป็นเลขาธิการอาเซียนคนใหม่แทนนาย Rodolfo C. Severino Jr. เลขาธิการอาเซียนคนปัจจุบัน โดยจะมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 5 ปี (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2546) และมีรองเลขาธิการอาเซียนจำนวน 2 คน (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งโดยชาว มาเลเซียและเวียดนาม)
สำนักงานอาเซียนแห่งชาติ หรือกรมอาเซียน (ASEAN National Secretariat)
           เป็นหน่วยงานในกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสมาชิก ซึ่งแต่ละประเทศได้จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบ ประสานงานเกี่ยวกับอาเซียนในประเทศนั้น ๆ และติดตามผลของการดำเนินกิจกรรม/ความร่วมมือต่าง ๆ สำหรับประเทศไทยนั้น ได้มีการจัดตั้งกรมอาเซียนให้มีหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติงานด้านอาเซียนดังกล่าว  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น